บทความ
- เด็กไทยดูดี มีพลานามัย
- "อ้วน" ภัยต่อนักเรียนยุคใหม่จริงหรือ?
- ทำอย่างไรดี เมื่อลูกอ้วน
- ทำอย่างไร เมื่อลูกน้ำหนักน้อย
- กินพอดี ชีวีมีสุข
- ขนมนั้นสำคัญไฉน
- การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
- สร้างวินัยอย่างไรจึงจะสำเร็จ
- รู้ได้อย่างไรว่าดูดี
- น้ำอัดลม
- การเคี้ยวนั้นสำคัญไฉน ? (ตอนที่ 1)
- ภัยคุกคามเด็กไทย เสี่ยงภัยโรคหัวใจในอนาคต
สร้างวินัยอย่างไรจึงจะสำเร็จ
รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงชุติมา ศิริกุลชยานนท์
ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
การสร้างวินัย ควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยที่กำลังสร้างลักษณะนิสัยและต่อเนื่องถึงเด็กวัยเรียนซึ่งจะมี กระบวนการเรียนรู้ คิดอย่างมีเหตุผลมากขึ้น เด็กจะเลือกทำกิจกรรมอย่างที่สนใจและลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาความจำและการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุผล
การฝึกวินัยทำให้เด็กเกิดนิสัยในการควบคุมตนเอง อันจะช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น ในสังคมได้ โดยไม่ล่วงเกินสิทธิหรือประพฤติผิดมารยาทของสังคม การฝึกวินัยให้เด็กจำเป็นต้องกระทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ค่อยเป็นค่อยไปโดยมีการยืดหยุ่นได้ตามสภาพของเด็ก และควรให้เด็กเข้าใจถึงเหตุผลของกฎระเบียบนั้น ๆ ควรหลีกเลี่ยงการข่มขู่ แต่ควรสนับสนุนให้กำลังใจยกย่องชมเชยเมื่อมีโอกาส สถาบันที่มีบทบาทในการการปลูกฝังการมีวินัยแก่คนในชาติ ได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันการเมืองและการปกครอง สื่อมวลชน และองค์กรอิสระ ถึงแม้ว่าการพัฒนาการมีวินัยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายสถาบันดังกล่าวไป แล้วนั้น การปลูกฝังการมีวินัยในตนเองให้แก่เด็กวัยเรียนนั้นเป็นหน้าที่สำคัญของ สถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษาที่ต้องพยามปลูกฝังความมีระเบียบวินัยให้เหมาะสมกับวัย โดยเริ่มแรกจากสถาบันครอบครัว เพราะบิดามารดามีบทบาทต่อพฤติกรรมของเด็กและคอย อบรมสั่งสอนให้เด็กมีพฤติกรรมความประพฤติที่ดีได้ และนอกจากนี้แล้ว ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเช่นกันในการเสริมสร้างวินัยให้เด็กเมื่ออยู่ในชั้น เรียน พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก ควรร่วมมือกันและประสานแนวคิดระหว่างบ้านและโรงเรียน เวลา และวิธีการทางบวกเพื่อสร้างวินัย
ท่านพระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) ได้กล่างถึง วิธีสร้างวินัยในตนเอง ดังนี้
“ การจะให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้ยั่งยืนเคยชิน ย่อมมาจากจิตใจที่มีความพึงพอใจ มีความสุขในการทำพฤติกรรมนั้น เมื่อเกิดปัญญาเรียนรู้ เกิดความรู้ความเข้าใจมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการกระทำนั้น จะเป็นวิธีสร้างวินัยความรับผิดชอบในตนเอง เป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระเบียบเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ “
มุ่งหวังให้เด็กได้แนวทางในการประพฤติปฏิบัติ โดยการปฏิบัตินั้นซึมซับเข้าไปในตัวเด็กควบคุมตัวเองในการกระทำสิ่งต่างๆ ได้ตามความคาดหวังและมีความสุข โดยเฉพาะ
- เป็นคนตรงต่อเวลา
- มีวินัยในการกิน กินเป็นเวลา 3 มื้อ ไม่จุบจิบ
- การเรียน ใฝ่รู้ จัดตารางสอน ทำการบ้าน อ่านทบทวนบทเรียน เข้าเรียนสม่ำเสมอ
- การเล่น เล่นและออกกำลังกายเป็นเวลา
- การทำงาน ตามที่ได้รับมอบหมาย
- การเข้านอน ตื่นเป็นเวลา
- การใช้เงิน รู้จักประหยัด อดออม รู้คุณค่าของเงิน
แนวทางปฏิบัติ
- จัดทำข้อตกลงในการปฏิบัติร่วมกัน ในระดับครอบครัวและในสถาบันการศึกษา เพื่อให้นักเรียนทราบความคาดหวัง ส่งเสริมทางเลือกและโอกาสผ่านกิจกรรมต่างๆ
- หาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน
- ครู/ผู้ปกครองเป็นแบบอย่าง
- มีความสม่ำเสมอในการปฏิบัติ ไม่ควรนำเด็กมาเปรียบเทียบกัน
- ปรับเปลี่ยนเทคนิคให้เหมาะสมกับสถานการณ์
- ให้เด็กรู้แผนงานในแต่ละวัน
- สิ่งแวดล้อมที่ดี ความรัก ความเข้าใจ
- การติดตามอย่างต่อเนื่อง
- สอนให้มีทักษะชีวิต เหมาะสม ไม่เหมาะสม
ผลดีของการมีวินัย
- ทำให้เกิดความมั่นใจ สามารถควบคุมตนเอง ควบคุมอารมณ์ และการกระทำ นำไปสู่ ความมั่นใจในตนเองและความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง
- ทำให้เข้าใจตนเอง มองภาพตนเองดีขึ้นเมื่อประสบผลสำเร็จและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง
- ทำให้ทำงานได้ประสบผลสำเร็จ
- ทำให้เป็นคนที่ทำอะไรอย่างมีจุดมุ่งหมาย
- ทำให้สามารถควบคุมตนเองและการกระทำให้เหมาะสมตามสถานการณ์
- ทำให้เห็นคุณค่าของเวลา เงิน สิ่งที่อยู่รอบข้างและรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับของสังคม
การปลูกฝังวินัยในเด็กช่วยส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก ตามวัย หากที่ผ่านมายังไม่มีการฝึก ยังไม่ช้าไปที่จะเริ่ม ต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมหรือการกระทำของเด็กก่อน การจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้เด็กทราบเหตุผล (ย่อมดีกว่าการออกคำสั่ง การบังคับ หรือการลงโทษ) เมื่อเด็กเกิดความพึงพอใจ มีความสุขในการกระทำพฤติกรรมนั้น เมื่อเกิดปัญญาเรียนรู้ เกิดความรู้ความเข้าใจมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการกระทำนั้น จะเกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์แบบยั่งยืน
เอกสารอ้างอิง : พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) วิธีสร้างวินัยในตนเอง